กว่าจะเป็น“สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา Intellectual Property Management Office : IPMO

ผมได้รับการร้องขอให้เขียนบทความเกี่ยวกับประสบการณ์ในการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในสถาบันอุดมศึกษา ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับบทความชิ้นนี้ ขอตัดตอนมาในช่วงปี 2548 ตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี (พ.ศ.2548 – 2551 ) รัฐบาลในยุคนั้นได้กำหนดยุทธศาสตร์ ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้ในประเด็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม โดยผลักดันให้มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง และที่ผ่านมาการดำเนินการมักจะมุ่งเน้น ในเรื่องการจดทะเบียนคุ้มครองและการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประดิษฐ์ คิดค้นหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวผมได้รับมอบหมายจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ดูแลและประสานงานกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาได้มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาลของมหาวิทยาลัย โดยในช่วงแรกมีมหาวิทยาลัยที่เป็นเป้าหมายที่ประสานงานอย่างน้อย 5 แห่ง กล่าวคือ • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ • มหาวิทยาลัยขอนแก่น • มหาวิทยาลัยนเรศวร • มหาวิทยาลัยบูรพา โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีในสมัยนั้น) ได้เดินทางไปขอเข้าพบและหารือกับอธิการบดีและผู้บริหารระดับสูงของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจ ทั้งในลักษณะงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาตลอดจนรับทราบนโยบายและภารกิจของมหาวิทยาลัย และหารือเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หลัก ก็คือ การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในมหาวิทยาลัย และในช่วงเริ่มต้นมีแนวคิดที่จะใช้คำว่า “สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา” ( Intellectual Property Management Office : IPMO ) กับหน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้น ทำไมจึงใช้คำนี้ ผมคิดว่าหากใช้คำว่า “สำนักงานอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี” ( Technology Licensing Office : TLO ) อาจจะมีความหมายที่แคบ ทำให้คิดไปว่าจะดูแลเฉพาะการอนุญาตให้ใช้สิทธิที่เกี่ยวกับการวิจัย เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเท่านั้น แต่จุดมุ่งเน้นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประสงค์จะให้มีการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ คิดค้นหรือสร้างสรรค์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ แบบผังภูมิของวงจรรวม พันธุ์พืช สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ลิขสิทธิ์และงานทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ตลอดจนการให้ความรู้ การเข้าสู่ระบบการคุ้มครอง การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าความสำเร็จในการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแห่งแรกเกิดจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง นายบุญนริศร์ สุวรรณพูล อดีตรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาในขณะนั้น) และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุมน สกุลไชย (อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นในขณะนั้น) ซึ่งเป็นเพื่อนนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (ว.ป.อ.)ได้ประสานงานให้ผมได้มีโอกาสพบและนำเสนอแนวความคิดในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ต่ออธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีและผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในวันที่ 15 กันยายน 2548 กรมทรัพย์สินทางปัญญา (โดยนายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (โดย รศ.ดร.สุมน สกุลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น) ได้ให้ความเห็นชอบและลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือกันพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการประดิษฐ์ คิดค้นหรือสร้างสรรค์และนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาสู่สาธารณชน และพัฒนาการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ในภูมิภาค จากความพร้อมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในด้านบุคลากร และมีเครื่องมือที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพ จึงเป็นการส่งเสริมให้มีการประดิษฐ์คิดค้นหรือสร้างสรรค์ การเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี และจะเป็นการช่วยผลักดันให้เกิดเครือข่ายการประดิษฐ์ คิดค้นหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมแผ่ขยายไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในขั้นแรกมุ่งเน้นการจัดทำหลักสูตรการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นในมหาวิทยาลัย ทั้งแบบรายวิชา หรือระดับปริญญา เพื่อเปิดสอนเป็นวิชาเรียนสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนสร้างวิทยากรเพื่อให้เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษา ประชาชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้สนใจในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มอบหมายให้ ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ เจริญสุดใจ เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน และดำเนินการรับสมัครนักศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม ประจำปีการศึกษา 2556 เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดตั้งขึ้นและเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2549 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 นอกจากนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยนำร่องในการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรองรับและดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างครบวงจร ทั้งที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย และของประชาชนในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง โดยคาดหวังในตอนนั้นว่าประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งไม่สามารถที่จะไปติดต่องานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนกลางได้โดยสะดวก จะสามารถติดต่อขอรับความรู้ คำแนะนำหรือคำปรึกษาในการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาได้ที่สำนักบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญามีนโยบายที่จะร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการผลักดันโครงการสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศ มีบุคลากรหรือหน่วยงานที่ดูแลหรือรับผิดชอบงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเริ่มประสบความสำเร็จ มีการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นทางการขึ้นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีเป้าหมายที่จะขยายไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้รองรับงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาและทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่การให้ความรู้ การจัดเตรียมคำขอ การยื่นคำขอ การตรวจสอบคำขอ การคุ้มครอง และการฟูมฟักผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างจริงจังและเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการส่งเสริมด้านการตลาด และหรือนำความต้องการของตลาดมาสู่การวิจัยและพัฒนาต่อไป ในเบื้องต้นผมขอเล่าเพียงเท่านี้ก่อน และจะพยายามเขียนหรือเล่าให้อ่านในโอกาสต่อไปครับ

นรินทร์ พสุนธราธรรม 14 มีนาคม 2562

เอกสารอ้างอิง : กรมทรัพย์สินทางปัญญา, วารสารทรัพย์สินทางปัญญา ปีที่ 1 ฉบับที่ 06 ประจำเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2548 : กรมทรัพย์สินทางปัญญา, วารสารทรัพย์สินทางปัญญา ปีที่ 1 ฉบับที่ 10 ประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2549